บนพื้นที่ 140 ไร่ ทางใต้สุดของจังหวัดเชียงใหม่ โอบล้อมด้วยลำน้ำแม่ตื่น และเนินเขาขนาดย่อม ห่างไกลความเจริญ ‘อมก๋อย’ อำเภอเล็กๆ ที่คนทั่วๆ ไปมักมองข้าม ติดจังหวัดตาก และแม่ฮ่องสอน การเดินทางจากกรุงเทพฯไปจึงถือว่าไม่ง่าย หากไม่มีความตั้งใจที่แน่วแน่ จุดหมายปลายทางคงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างอื่นเป็นแน่…

activities-1

ขอเข้าเรื่องด้วยการเล่าถึงความตั้งใจเดิมของคุณคำนูญวิทย์ วรภู (KAMNOONVIT VORAPOO) เจ้าของสยามปราณา (SIAM PRANA)  ฟาร์มออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้มีแนวคิดในการใช้พื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์รวมชาวกระเหรี่ยง ปากระเชอ  เพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติเหมือนดังที่บรรพบุรุษก่อนหน้าเราเคยเป็น ต่อมาจึงค่อยๆ ปรับแนวคิดให้เป็นไร่สวนเกษตรอินทรีย์ โดยอาศัยการเรียนรู้จากชาวปากะญอ จนเกิดเป็นผลผลิตปลอดสารพิษ (grown in a non-chemical environment) ทั้งลิ้นจี่ พริก งาดำ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และข้าวดอยอินทรีย์   (Highland Rice, Organic) พันธุ์ท้องถิ่นอย่างข้าวบือกี (BUEKEE, WHITE BROWN RICE) ข้าวซากอ (BUESAKOE, RED BROW RICE) และข้าวน่อแท (BUENOTAE, JAPANESE RICE)

ก็ด้วยความตระหนักได้ว่าพืชพันธุ์ที่เคยมีอยู่ตรงผืนดินเดิมแห่งนี้มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด  และสิ่งนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดตัวตนของคนพื้นที่ได้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน ให้คนพื้นราบได้รู้จักข้าวของเรา ตอกย้ำด้วยความคิดที่ว่า “ เงินทองคือมายา ข้าวปลาสิของจริง”

 

ทั้งหมดดังกล่าวเป็นที่มาให้พวกเรา 15 ชีวิต ออกเดินทางโดยรถตู้ 1 คัน รถกระบะ 1 คัน และนั่งเครื่องมาสมทบอีก 1 คน โดยมีคนที่อายุน้อยที่สุดในทริปที่มีอายุเพียง 11 เดือนกว่า นอกจากนี้ก็คละกันไปตั้งแต่  17 – 48 ปี เป็นสิ่งอันพิสูจน์ได้ว่าช่องว่างระหว่างวัยไม่อาจกีดกั้นจุดมุ่งหมายของมนุษย์ได้

พวกเรามาอยู่กินนอน ทดลองใช้ชีวิตในไร่เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ผ่านช่วงเวลาการปรับตัวเข้าหาความเป็นธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่การสูดลมหายใจสะอาดๆ จากไร่ การกินอาหารจากพืชผลเกษตรอินทรีย์

activities-2

พวกเราตื่นแต่เช้า มากินถั่วเขียวต้มชีวจิตไม่ใส่น้ำตาล หนึ่งในผลผลิตของไร่นี้  ข้าวต้มจากข้าวกล้องบือกี-ซากอ รวมกันทั้ง 2 ชนิด (Organic Brown Rice) แต่ละมื้อได้ทำกับข้าวที่ได้มาจากการหยิบจับเอาของที่มีอยู่ในไร่และย่านใกล้เคียงมารวมๆ กัน มีทั้งน้ำพริกพริกย่าง ไข่เจียว ผัดวุ้นเส้นชะอม ส้มตำประยุกต์ น้ำพริกปลาทู มันเผา หมูย่าง และอีกมากมายที่ทำให้เราตักตวงความอร่อยกันได้ในแบบดิบๆ อย่างเราๆ
พวกเราได้ทำสปาเท้าแบบธรรมชาติวิถีให้ทราย และโคลนดินปรนนิบัติฝ่าเท้า ด้วยการเดินลุยน้ำในลำน้ำแม่ตื่น เราออกเดินสำรวจของป่า ขุดหาเห็ดเผาะ เก็บเห็ดมาปรุงทำกับข้าว เก็บลูกหวายมากินสดๆ  เก็บลูกสนกลับบ้าน และไม่ลืมเก็บเกอะมอโดะ (KUEMODO) (อาจมีลักษณะคล้ายพืชใบเลี้ยงเดียว อย่างกล้วยไม้ป่า หรือเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้) ของป่าแปลกๆ เพื่อนำกลับมาทำขนมหวานคล้ายข้าวเหนียวปิ้ง และตื่นตาตื่อนใจกับการเก็บรังต่อมาหยิบแทะกินตัวอ่อนกันอย่างอร่อยมัน

ได้สังเกตเรียนรู้การไถนา การดำนา เรียนรู้ขั้นตอนการย่ำดินด้วยเท้า เป็นการผสมกันระหว่างดิน ทรายและแกลบ จนกระทั่งรู้สึกได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกัน เสร็จแล้วก็ตักดินไปใส่พิมพ์ ก็จะออกมาเป็นบล็อกก้อนนิ่มๆ รอตากแดด 3 – 5 วัน (แล้วแต่สภาพอากาศ) สำหรับนำไปทำบ้านดินต่อไป
เป็นโอกาสอันดี ที่ได้เดินดูแสงของหิ่งห้อยจำนวนมากเพียงแค่การเดินเท้าในไร่  การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและเรื่องราวชีวิตกันในช่วงพลบค่ำ และการผิงไออุ่นจากไฟ จบลงด้วยการหลับสบายในที่พักที่มีอากาศถ่ายเทอุณหภูมิได้ดีที่สุดอย่างบ้านดินใต้ผ้าห่มอุ่น

และเมื่อเรากำลังเดินทางกลับบ้าน ตอนที่เหลียวหลังมองย้อนกลับไปในไร่ ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในไร่ว่าอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่เข้ามากระทบสัมผัสกับพวกเรา 16 ชีวิต แต่ทว่า…บางทีพวกเราอาจไม่รู้ตัวเท่าไหร่นัก ว่าการที่คนไม่กี่คนริเริ่มที่จะหันมากินข้าวกล้องกินผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรรายเล็กๆ นั้น มันมีผลกระเพื่อมที่แรงมหาศาลเพียงใด
เราต่างก็ไม่รู้ตัวกันหรอกว่า ข้าวทุกเม็ด ผักทุกใบที่เรากินเข้าไป มันขับเคลื่อนให้ชาวไร่ชาวนาเกิดความเชื่อมั่นและมีกำลังใจที่จะขยายกำลังผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อๆ กันไปได้อีกไม่รู้จบ สิ่งเหล่านี้เป็นการต่อลมหายใจให้กับชาวไร่ที่อุทิศตนให้กับไร่นาเกษตรอินทรีย์ ขณะเดียวกันก็สามารถขับเคลื่อนให้เกษตรกรแบบดั้งเดิมกล้าที่จะเปลี่ยนมาทำไร่นาเกษตรอินทรีย์ เพราะขายได้ และถ้าวันนั้นมาถึง…คนไทยก็จะได้กินดีอยู่ดี มีสุขภาพที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะเราเป็นชาติที่ผลิตอาหารให้คนทั้งโลกกิน…คนไทยจึงควรจะได้กินอาหารที่ดีก่อนใครในโลก
วันนั้นคงไม่นานเกินรอ…

Leave Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

clear formSubmit